ภาคีพยาบาล จัดตั้งแคมเปญคัดค้าน พรก.นิรโทษกรรมวัคซีน แบบเหมาเข่ง บน change.org กลัว รบ.หนีความผิด หลังจัดการวัคซีนผิดพลาด นิรโทษกรรมเหมาเข่ง – กลุ่ม Nurses Connect หรือ ภาคีพยาบาล ได้จัดตั้งโครงการคัดค้าน พรก.นิรโทษกรรมวัคซีน บนเว็บไซต์ change.org หลังจากที่มีรายงานว่าทางรัฐบาลการเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด 19
โดยข้อความบนเว็บไซต์ระบุว่า ไม่ต้องอ้างว่าทำเพื่อบุคลากรด่านหน้า
ไม่ต้องอ้างคนทำงานเพื่อสอดไส้นิรโทษกรรมให้ตัวเอง ขอคัดค้าน พ.ร.ก. นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้กับรัฐบาลและคณะผู้จัดหาวัคซีน มีการเปิดเผยเอกสารนำเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มความคุ้มครองบุคลากรการแพทย์ในสถานการณ์โควิด ที่ชื่อว่า ‘พระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ….’ ซึ่ง ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันว่าเป็นเอกสารจริง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และลดช่องโหว่คนหัวใสฟ้องร้องเอาผิด โดยบอกว่า
“ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสามเพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์” อ่านต่อ
ขอยืนยันว่า ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้แพทย์พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขในฐานะผู้ปฏิบัติงาน แต่จุดที่เป็นปัญหาที่สุดคือ รายละเอียดที่สอดไส้มาในข้อ 7 ที่เหมารวมถึง “บุคคล / คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน” (ไม่ว่าจะเป็นศบค. ที่ปรึกษา หรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ)
เราเห็นว่า ‘ด่านหน้าไม่มีความผิด’ แต่ ‘หน้าด้าน’ ที่บริหารประเทศจนทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว จนเกิดความสูญเสียจนประชาชนล้มตายกว่า 6 พันคน อันนี้ ต้องรับผิดชอบ หรืออย่างน้อยที่สุดหากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนจะถูก หรือผิด ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง ดังนั้น พ.ร.ก ฉบับนี้ไม่ควรได้ไปต่อจนว่าจะถูกปรับแก้ ในเวลานี้เราต่างรู้ดีว่า ‘เงียบแล้วอดทน เปลี่ยนประเทศนี้ไม่ได้’ จึงขอเชิญผู้ที่เห็นตรงกันร่วมลงชื่อคัดค้าน และช่วยกันแสดงพลังด้วยการส่งเสียง เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศได้ไปต่อ เมื่อรัฐบาลบริหารงานแบบดิ่งลงเหว เรายิ่งต้องบ่นให้เสียงดังขึ้นไปอีก เสียงของทุกคนมีค่าเสมอ
“หยุดอ้างว่านี่คือการปกป้องคนทำงาน หยุดอ้างว่านี่คือการให้กำลังใจบุคลากรด่านหน้า เพราะบุคลากรด่านหน้า และอาสาสมัครต่างๆ ทำงานเต็มที่โดยอยู่บนมาตรฐานวิชาชีพอย่างสูงสุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้อให้ทำได้…และพวกท่านทั้งหลายจงหยุดอ้างว่าทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่พวกท่านจงระลึกว่า เพราะการทำงานของพวกท่านนั่นเองที่นำพาประเทศและการสาธารณสุขให้ดิ่งลงเหวมาจนถึงจุดนี้ และพวกท่านนั่นแหละต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง!” เครือข่าย Nurses Connect
ราชกิจจาฯ ประกาศ ยกเลิก คำสั่ง ห้ามนำเสนอข่าวสร้างความหวาดกลัว
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา สั่งยกเลิก มาตรา 9 หรือคำสั่ง ห้ามนำเสนอข่าวสร้างความหวาดกลัว โดยมี ประยุทธ์ ลงนาม ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่เอกสารถึง ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 31 ) ซึ่งลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 นั้น โดยที่ได้มีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 แต่ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)
เห็นว่า แม้จะเป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอในเหตุฉุกเฉินซึ่งศาลยังไม่ได้กำหนดวันนัดเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้คู่ความ เพราะอยู่ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น และคู่ความอาจยื่นคำขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งนั้นได้ตามมาตรา 267 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เมื่อปรากฎว่าในทางปฏิบัติยังไม่ได้บังคับใช้ข้อกำหนดนั้นแก่กรณีใด และเจ้าหน้าที่อาจนำมาตรการทางกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ได้ตามที่ศาลกล่าวถึง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
แนะนำ : เคล็ดลับต่างๆ | เว็บรวมวิธีต่างๆ How to | จัดอันดับซีรีย์ | รีวิวครีม